“เอแบคโพลล์” เผย ปชช.แห่เลิกหนุน “รัฐบาลสุรยุทธ์”

12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 


“เอแบคโพลล์” เปิดผลสำรวจ แรงหนุนรัฐบาลตกวูบ 6% ประชาชนชี้ ปัญหาเร่งด่วน ฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ความจน หนี้สิน ความไม่สงบ 3 จังหวัดใต้ อาชญากรรม คอร์รัปชั่น ยาเสพติด เด็ก-เยาวชน การเมือง เร่งรัฐแก้ปัญหาเร็ว มีรูปธรรม ตัวอย่าง 83% ไม่เคยอ่าน รัฐธรรมนูญ 2540 อ้างไม่มีเวลา ส่วนเกือบครึ่ง หนุนกำหนดเวลาครองเก้าอี้ 8 ปี

วันนี้ (12 พ.ย.) สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง อารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชน ต่อ รัฐธรรมนูญ และ การทำงานของ รัฐบาลชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ : กรณีศึกษา ประชาชนทั่วไป ในเขต กรุงเทพมหานคร และ 17 จังหวัด ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 3,224 ตัวอย่าง ทำการสำรวจ ระหว่างวันที่ 3-11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 พบว่า มีประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

สิ่งที่ประชาชนนึกถึง เป็นอันดับแรก เกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญ ร้อยละ 30.7 นึกถึง กฎหมาย ร้อยละ 19.5 นึกถึง ความเป็นประชาธิปไตย ร้อยละ 10.3 นึกถึง ความยุติธรรม ความเที่ยงตรง ความถูกต้อง ร้อยละ 8.9 นึกถึง การปกครองบ้านเมือง ในขณะที่เพียงร้อยละ 4.5 นึกถึง กฎหมายสูงสุด

ผลสำรวจยังระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.7 ไม่เคยอ่าน รัฐธรรมนูญ 2540 เพราะไม่มีเวลา งานยุ่ง ไม่ใช่นักกฎหมาย ไม่ใช่นักการเมือง ไม่รู้ว่าหาอ่านได้ที่ไหน เป็นต้น

ที่น่าสนใจ คือ ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่ง คือ ร้อยละ 47.5 ร้อยละ 47.2 ร้อยละ 46.5 และ ร้อยละ 49.6 ตามลำดับ เห็นด้วยกับ การกำหนดให้ นายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่ง ไม่เกิน 8 ปี กำหนดให้ รัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่ง ไม่เกิน 8 ปี กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อยู่ในตำแหน่ง ไม่เกิน 8 ปี และ กำหนดให้ นักการเมืองท้องถิ่น อยู่ในตำแหน่งบริหาร ไม่เกิน 8 ปี

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.3 เห็นด้วย ถ้ามี กฎหมายยึดทรัพย์ ขบวนการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 91.9 เห็นด้วย ถ้ามี กฎหมายคุ้มครองพยาน ให้มีชีวิตที่ดีกว่า หลังจากร่วมมือคลี่คลายคดี เพื่อความถูกต้อง ใน กระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 87.2 เห็นด้วย ถ้ามี กฎหมายเอาผิด การล็อบบี้ เอื้อประโยชน์ พวกพ้องและนายทุน ร้อยละ 84.2 เห็นด้วย ถ้ามี กฎหมายเอาผิด การเลี้ยงดูปูเสื่อ คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ตามลำดับ

ในส่วนของ ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ที่คิดว่า รัฐบาล ควรแก้ไขเร่งด่วน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.9 ระบุว่า ควรให้ การฟื้นฟูช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม เช่น ที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค อาชีพการงาน และ เงินชดเชย เป็นต้น รองลงมา ร้อยละ 82.9 ระบุ ปัญหาความยากจน และ หนี้สิน ร้อยละ 81.6 ระบุ ปัญหาก่อการร้ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 80.1 ระบุ ปัญหาอาชญากรรมต่างๆ การคุกคามทางเพศ ข่มขืน จี้ปล้น ฆาตกรรม เป็นต้น ร้อยละ 76.7 ระบุ ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 75.6 ระบุ ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 72.8 ระบุ ปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน ไม่ได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างแท้จริง ร้อยละ 70.3 ระบุ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย การปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 62.8 ระบุ ปัญหาการเมือง เช่น การไม่มีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิเสรีภาพประชาชน และ การตรวจสอบรัฐบาล ในขณะที่ ร้อยละ 61.4 ระบุ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม ความไม่เท่าเทียม และ การเลือกปฏิบัติ

ผลสำรวจ ยังพบอีกว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.2 ระบุ สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งปรับปรุง คือ ความรวดเร็ว ใน การแก้ปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 87.4 ระบุ การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ร้อยละ 66.9 ระบุ มีหลักฐานเอาผิด ขบวนการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 65.1 ระบุ การจัดระเบียบสังคม และ ร้อยละ 63.8 ระบุ ประสิทธิภาพการทำงาน ของ ข้าราชการ เป็นต้น

อีกเรื่องหนึ่ง ที่น่าเป็นห่วง คือ แรงสนับสนุนของประชาชน ต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน ลดลงจาก การสำรวจในเดือนตุลาคม ร้อยละ 60.9 มาอยู่ที่ ร้อยละ 55.2 ในการสำรวจครั้งล่าสุด

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าเสียงสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลเริ่มตกลงภายในเวลาอันสั้นมาก เพราะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของรัฐบาลอาจไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน ไม่โดนใจประชาชน ไม่รวดเร็วในการแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนระดับรากฐานสังคมแต่กลับไปรวดเร็วทำอย่างอื่นที่ห่างไกลชีวิตประจำวันของประชาชน และความอดทนของประชาชนก็มีจำกัด รัฐบาลอาจไม่ต้องการคะแนนนิยมเพราะไม่ได้มาจากพรรคการเมืองแต่รัฐบาลยังต้องการการสนับสนุนจากสาธารณชนเพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไป

“นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลที่เขียนอย่างกว้างๆ ถ้าให้แต่ละกระทรวงแยกกันทำจะไม่มีแรงพอที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้เพราะปัญหาที่กำลังบั่นทอนคุณภาพชีวิตประชาชนและวัฒนธรรมประเพณีของไทยขณะนี้มันใหญ่เกินกว่ากระทรวงใดกระทรวงหนึ่งจะแก้ไขได้ เมื่อให้แต่ละกระทรวงแยกกันไปทำแบบไม่บูรณาการก็จะทำให้รัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลที่สมองโตขาลีบและอาจเป็นรัฐบาลที่เป็นง่อยไป ความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อรัฐบาลก็จะหมดไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ประชาชนทั่วไปจะขาดความศรัทธาต่อรัฐบาลที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเพราะประชาชนจำนวนมากอาจมองว่ารัฐบาลที่ถูกมองว่าไม่ซื่อสัตย์แก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนได้ดีและทันใจกว่า” นายนพดล กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวด้วยว่า แนวทางที่น่าพิจารณาคือนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีควรจะเน้นการบูรณาการกลไกต่างๆ ของรัฐในการแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนควบคู่ไปกับระบบคุณธรรม เพียงแต่แก้ไขจุดอ่อนของรัฐบาลที่แล้วที่เคยมีในเรื่องระบบอุปถัมภ์ แต่เรื่องการบูรณาการการแก้ปัญหาควรจะสานต่อ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังปฏิเสธแนวทางการบูรณาการในขณะที่ปัญหาระบบอุปถัมภ์ยังคงมีอยู่อย่างชัดเจน ผลที่ตามมาก็คือ อายุของรัฐบาลอาจจะสั้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ และระบบคุณธรรมจริยธรรมของสังคมไทยจะล่มสลายไป จนกลายเป็นเพียงระบบสัญลักษณ์ ให้ผู้มีอำนาจที่จะเข้ามาแทนนำไปอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองและพวกพ้องเท่านั้น

แหล่งที่มา