กกต. กำหนดเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วนแล้ว

16 ตุลาคม พ.ศ. 2550 

16 ต.ค. 2550 - ภายหลังการประชุม กกต.นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านบริหารการเลือกตั้ง แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกแบบการแบ่งเขต ส.ส.สัดส่วน 8 กลุ่ม รูปแบบดังกล่าวมีจำนวนสัดส่วนประชากรใกล้เคียงกันมากที่สุดด้วย โดยหลังจากนี้ กกต. จะนำประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ และภายหลังมีพระราชกฤษฎีการกำหนดวันเลือกตั้งก็จะประกาศให้ทราบอีกครั้ง

การแบ่งเขต ส.ส.แบบสัดส่วน 8 กลุ่มจังหวัด ที่ กกต.เห็นชอบนั้นประกอบด้วย

  • กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย 11 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,615,610 คน คิดเป็นจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 50 คน ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร
  • กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย 9 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,897,563 คน คิดเป็นจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 50 คน ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก อุทัยธานี เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยภูมิ ขอนแก่น
  • กลุ่มที่ 3 ประกอบด้วย 10 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,959,163 คน คิดเป็นจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 50 คน ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ มหาสารคาม
  • กลุ่มที่ 4 ประกอบด้วย 6 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,992,434 คน คิดเป็นจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 51 คน ได้แก่ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์
  • กลุ่มที่ 5 ประกอบด้วย 10 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,818,710 คน คิดเป็นจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 50 คน ได้แก่ นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด
  • กลุ่มที่ 6 ประกอบด้วย 3 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,802,639 คน คิดเป็นจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 49 คน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ
  • กลุ่มที่ 7 ประกอบด้วย 15 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,800,965 คน คิดเป็นจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 48 คน ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุมทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และ
  • กลุ่มที่ 8 ประกอบด้วย 12 จังหวัด จำนวนประชากรในกลุ่มจังหวัดรวม 7,941,622 คน คิดเป็นจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 52 คน ได้แก่ สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กกต.ยังมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คือ ร่างระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการลงคะแนนการจับเบอร์ของผู้สมัคร ส.ส. เขต และ ส.ส. สัดส่วน ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขต กรรมการการเลือกตั้งประจำเขต ร่างระเบียบค่าตอบแทนกรรมการประจำเขต ซึ่ง กกต. จะนำประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ส่วนการพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 157 เขตที่จังหวัด ซึ่งมีเกิน 1 เขตเลือกตั้ง และต้องแบ่งใหม่ 45 จังหวัดนั้น กกต.ก็จะทยอยพิจารณาและประกาศ เนื่องจากขณะนี้มีผู้ยื่นหนังสือคัดค้านการเสนอรูปแบบการแบ่งเขตของ กกต. จังหวัดมายัง กกต. กลางจำนวนมาก

สำหรับการกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้งขณะนี้ต้องรอดูว่าร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด แต่คาดว่า วันสมัครรับเลือกตั้งน่าจะเป็นช่วงต้นเดือน พ.ย.

แหล่งที่มา